กวดวิชาในการศึกษาของไทย

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าการศึกษาของไทยเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเป็นระดับที่มีการแข่งขันกันมากที่สุด จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการกวดวิชา เพื่อสร้างความพร้อมและสร้างความมั่นใจเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขึ้นนอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียนอยู่ ทำให้โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในทศวรรษที่ผ่านมา การกวดวิชาเกิดขึ้นจาก  ภาวะการแข่งขันของระบบการศึกษา ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรง มีการพูดกันมาตลอดว่า การกวดวิชาคือแหล่งหากิน จากช่องว่างทางการศึกษา สร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม แต่ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาเองก็ปรับตัวตามปรัชญา การศึกษาที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาที่ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่เกิดความต้องการเรียนกวดวิชามาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากชั้นเรียนปกติในโรงเรียน ทำให้นักเรียนต้องขวนขวายที่จะเรียนกวดวิชา ซึ่งปัญหาที่พบก็คือ
1. เนื้อหาที่เรียนในห้องเรียนไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมด อีกทั้งเนื้อหาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการไม่เพียงพอสำหรับความรู้ที่ใช้ในการสอบคัดเลือกในระดับต่างๆ เพราะข้อสอบคัดเลือกมักจะไม่ตรงกับแบบเรียน ทำให้เสียเปรียบนักเรียนที่ออกมาเรียนกวดวิชา ที่ได้ทั้งความรู้เพิ่มและเทคนิคต่างๆ และการเก็งข้อสอบจากโรงเรียนกวดวิชา
2. สื่อและอุปกรณ์ในการเรียนการสอนที่โรงเรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน อีกทั้งหนังสือและคู่มือต่างๆ มีราคาแพง และขาดตลาดอยู่เสมอ ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาแก้ปัญหานี้ด้วยการสรุปและเพิ่มเติมเนื้อหาต่างๆ ไว้ให้นักเรียน รวมทั้งแนะนำเทคนิคคิดเร็ว วิธีท่องจำอย่างง่าย เพื่อให้นักเรียนกลับไปทบทวนที่บ้านได้ง่ายขึ้น
3. อาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนปกติแต่ละท่านมีความพร้อมต่างกัน คุณภาพในการสอนจึงไม่เท่ากัน บางโรงเรียนมีอาจารย์สอนไม่ตรงกับสาขาวิชาที่จบมา ไม่มีความรู้จริง ทำให้นักเรียนได้ความรู้ไม่เต็มที่ จึงออกมาเรียนกวดวิชา

4. เวลาในการเรียนมีน้อย นักเรียนบางคนจึงกลัวเรียนไม่ทันเพื่อน รวมทั้งบรรยากาศในการเรียนการสอนในโรงเรียนปกติไม่ดึงดูดความสนใจของนักเรียน

ที่มา  :  http://www.thaihypno.com/content/viewContent.php?menu_id=229&page_id=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น